อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
ลงทะเบียน/เข้าสู่ระบบ
ภาษา
ปรับขนาดตัวอักษร
ประเพณี/วัฒนธรรม/เทศกาล
ประเพณีรำพาข้าวสาร
คะแนนโหวต 5.00/5 คะแนน จากผู้โหวต 1 ท่าน

ประวัติความเป็นมา รำพาข้าวสาร เป็นประเพณีของชาวปทุมธานีที่มีมาตั้งแต่สมัยตันรัชกาลที่ 3 คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทำกันมาทุกปี จุดเริ่มต้นเกิดที่วัดแจ้ง ตำบลสามโคก จังหวัดปทุมธานี ในปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่า เจ้าน้อยระนาดธิดาเจ้าสัวสุ่นได้ลงเรือหนีทัพพม่ามากับพวกตามลำน้ำเจ้าพระยาในเวลากลางคืน จนมาสว่างที่อำเภอสามโคก ตรงกับวัดแจ้งเวลานี้ และได้พักผ่อนที่นั่น กล่าวกันว่า ได้เจอดินกลายเป็นทองตรงวัดแจ้ง จึงตั้งใจว่าเมื่อตั้งหลักฐานมั่นคงแล้วจะมาสร้างวัดที่นี่ ต่อมาเจ้าน้อยระนาด (ตีระนาดเก่งมาก) ได้เป็นเจ้าจอมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และมีพระราชโอรสซึ่งเกิดในเจ้าจอมมารดาน้อยระนาดคือ พระองค์เจ้าชายกลาง ต่อมาในรัชกาลที่ 4 พระองค์กลางได้ทรงกรมเป็นที่กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ และในรัชกาลที่ 5 ได้เลื่อนเป็นกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ และสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 73 พรรษา ทรงเป็นต้นสกุลวัชรีวงศ์ เข้าใจว่าสกุลนี้จะมาสร้างวัดแจ้ง

กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ มีโอรส คือ พระวรวงศ์เจ้าวัชริวงศ์ (พระองค์เจ้าขาว) ได้มาบูรณะวัดแจ้งทุกปี และพระองค์เป็นผู้ริเริ่มให้มีการรำพาข้าวสารขึ้น เพื่อนำไปถวายพระให้เป็นทุนในการปฏิสังขรณ์วัดต่อไป การที่พระองค์เป็นผู้ริเริ่มขึ้น ฉะนั้นในการร้องเพลงรำพาข้าวสารจึงเริ่มต้นด้วยชื่อ ของท่านซึ่งเป็นการแสดงความคารวะต่อพระองค์ท่าน โดยขึ้นต้นเพลงว่า “เจ้าขาวลาวละลอกเอย…” เป็นต้น ประเพณีการรำพาข้าวสารนี้ ชาวนนทบุรีก็นำไปใช้ด้วยเช่นกัน แต่จะเรียกว่า “รำพาข้าวสารพระองค์เจ้าขาว…”

ปัจจุบันประเพณีรำพาข้าวสารของชาวจังหวัดปทุมธานีได้เลิกมาประมาณ 30 กว่าปีแล้วเนื่องมาจากมีพวกมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นคณะรำพาข้าวสารปล้นจี้ชาวบ้าน ทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายเมื่อชาวบ้านได้ยินเพลงรำพาข้าวสารต่างก็กลัวจนขวัญหนีดีฝ่อ ไม่กล้าออกมาทำบุญ

ทางจังหวัดปทุมธานีได้เตรียมวางโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประเพณีเก่าๆ ขึ้นมาใหม่ทั้งนี้เพื่อให้ประเพณีที่ดีงามและมีคุณค่าเหล่านั้นได้คงอยู่ต่อไปเป็นสมบัติของชาติ

กำหนดงาน ประเพณีรำพาข้าวสารจะเริ่มทำกันเมื่อออกพรรษาแล้ว คือ ถ้าวัดใดยังไม่มีคนจองกฐินหรือยังไม่ได้ทอดกฐิน ชาวบ้านก็จะช่วยกันจัดกฐินไปทอด จึงต้องออกเรี่ยไรบอกบุญไปยังชาวบ้านเป็นการร้องเพลงเชิญชวนไปทำบุญ

กิจกรรมและพิธี วิธีรำพาข้าวสารมีดังนี้ คือ คณะรำพาข้าวสารจะประกอบไปด้วยบุคคลทั้งหญิง และชายมีทั้งคนแก่หรือคนหนุ่มสาว ประมาณ 20-30 คน ลงเรือที่เตรียมไว้ในตอนค่ำ ภายในเรือมีกระบุงหรือกระสอบใส่ข้าวสาร มีคนแก่คนหนึ่งนุ่งขาวห่มขาวนั่งกลางลำเรือเป็นประธาน โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ส่วนคนอื่นๆ ช่วยกันพายเรือ และแต่งกายตามสบาย หรือแล้วแต่จะตกลงกัน ทุกคนนั่งริมกราบเรือเพื่อช่วยกันพายเรือ และมีคนคัดท้ายที่เรียกว่า “ถือท้ายเรือ” หนึ่งคน จะพายพร้อมๆ กัน เหมือนกับแข่งเรือ โดยพายไปตามบ้านที่เรือจอดถึงหัวบันไดบ้านได้

เมื่อเรือจอดที่หัวบันไดบ้านแล้ว ก็จะร้องเพลงโดยมีต้นเสียงหรือแม่เพลงขึ้นนำว่า “เจ้าขาวลาวละลอกเอย มาหอมดอก ดอกเอ๋ยลำใย แม่เจ้าประคุณพี่เอาส่วนบุญมาให้ “ จากนั้นทุกคนก็จะร้องรับพร้อมๆกันว่า “เอ่ เอ เอ้ หลา เอ่ หล่า ขาว เอย” แล้วก็ร้องไปเรื่อยๆ เป็นทำนองเชิญชวนให้ทำบุญร่วมกัน ร้องไปเรื่อยจะเป็นดอกอะไรก็ได้จนกว่าเจ้าของบ้านจะตื่น เมื่อเจ้าของบ้านได้ยินเสียงเพลง ก็จะรู้ทันทีว่ามาเรี่ยไรข้าวสารเพื่อจะนำไปทอดกฐิน โดยเอาขันตักข้าวสารลงมาให้ที่เรือแล้วยกมือไหว้เป็นการอนุโมทนาด้วย โดยร้องว่า “ทำบุญกับพี่แล้วเอย ขอให้ทรามเชยมีความสุข นึกถึงเงินให้เงินมากอง นึกถึงทองให้ ทองไหลมา เอ่ เอ เอ้ หล่า เอ่ หล่า ขาว เอย” เมื่อร้องเพลงให้พรเสร็จแล้วก็พายเรือไปบ้านอื่นต่อไป

การรำพาข้าวสารจะเริ่มตั้งแต่ 19.00 น. ไปจนถึงเที่ยงคืนจึงเลิกแล้วพากันกลับบ้านและในคืนต่อไปคณะรำพาข้าวสารก็จะพายเรือไปขอรับบริจาคที่ตำบลอื่นต่อไป จนกระทั่งเห็นว่าข้าวของที่ได้มาพอที่จะทอดกฐินแล้วจึงยุติการรำพาข้าวสาร

แสดงความคิดเห็น