อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
ลงทะเบียน/เข้าสู่ระบบ
ภาษา
ปรับขนาดตัวอักษร
ประเพณี/วัฒนธรรม/เทศกาล
ประเพณีตักบาตรพระร้อย
ยังไม่มีผู้ให้คะแนน

ประวัติความเป็นมา ประเพณีตักบาตรพระร้อย นับว่าเป็นประเพณีอันดีงามของชาวจังหวัดปทุมธานีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานับร้อยปี นอกจากชาวปทุมธานีที่ยึดถือปฏิบัติกันแล้วยังปรากฏว่า การตักบาตรพระร้อยเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวบ้านคลองบางกอกน้อย ตำบลบางกร่าง อำเภอบางกรวย และตามหมู่บ้านริมคลองบางกอกน้อยอื่นๆ จังหวัดนนทบุรี และจะขอกล่าวถึงประเพณีตักบาตรพระร้อยที่ปทุมธานีเป็นอันดับแรก

ในจังหวัดปทุมธานี การตักบาตรพระร้อยเป็นหน้าที่ของทางวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลอง แต่ถ้าวัดใดไม่จัดก็ได้ ส่วนมากจะจัดที่วัดใหญ่ๆ การตักบาตรพระร้อยมาจากการต้องใช้พระเป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่าพระร้อย และความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก จึงลุล่วงไปด้วยดี การตักบาตรพระร้อยเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดปทุมธานี วัดที่จัดตักบาตรพระร้อยต้องกำหนดวันที่เรียบร้อย ทายกวัดที่เป็นเจ้าภาพก็ไปนิมนต์พระวัดต่างๆ ตามจำนวนที่ต้องการ พร้อมกับแจ้งกำหนดงาน

กำหนดงาน ประเพณีตักบาตรพระร้อยเริ่มตั้งแต่เทศกาลออกพรรษา คือ วันขี้น 15 ค่ำเดือน 11 แต่วันที่มีการตักบาตรจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 และในเขตอำเภอเมืองและอำเภอสามโคก มีกำหนดงานและวัดที่จัดดังต่อไปนี้ วันแรม 1 ค่ำ วัดมะขาม และวัดเจดีย์ทอง วันแรม 2 ค่ำ วัดหงษ์ปทุมมาวดี วันแรม 3 ค่ำ วัดสำแล วันแรม 4 ค่ำ วัดบางหลวง วันแรม 5 ค่ำ วัดไผ่ล้อม และวัดโบสถ์ (อ.เมืองปทุมธานี) วันแรม 6 ค่ำ วัดไก่เตี้ย วันแรม 7 ค่ำ วัดบางนา วันแรม 8 ค่ำ วัดดาวเรือง วันแรม 9 ค่ำ วัดบางโพธิ์ วันแรม 10 ค่ำ วัดบ้านพร้าวใน วันแรม 11 ค่ำ วัดชัยสิทธาวาส และวัดบางขัน  วันแรม 14 ค่ำ วัดโพธิ์เลื่อน

กิจกรรม เมื่อถึงวันงานในตอนเช้ามืด ทางวัดจะใช้เชือกขึงเป็นเส้นริมฝั่งแม่น้ำหน้าบ้านเรือน ไว้ให้ผู้ที่มาทำบุญได้จับเกาะเป็นแถบโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง บางวัดไม่ต้องใช้เชือกขึง เพราะเป็นที่รู้กันว่าจะจอดเรือตักบาตรพระร้อยกันในช่วงใน เพราะทำติดต่อกันมารู้กำหนดได้จนเป็นประเพณี ผู้มาตักบาตรพระร้อยจะจัดเตรียมอาหารทั้งคาวหวาน อาหารคาวนั้น มีทั้งอาหารแห้ง เช่น หมี่กรอบ ผัดเผ็ด ผัดผักหรือแกงจืด แกงเผ็ดตามสะดวก ส่วนอาหารหวานนิยมทั้งผลไม้ และขนม เช่น ส้ม องุ่น กล้วยหอม กล้วยไข่ ขนมถ้วยฟู ข้าวต้มมัด ข้าวเม่าทอด กล้วยแขกทอด ขนมห่อมี ขนมกล้วย ขนมสอดไส้ ขนมตาล ฯลฯ ซึ่งแต่ละบ้านจะจัดเตรียมอาหารใส่ภาชนะแยกเป็นอย่างๆ ไปเป็นจำนวนมาก เพราะมีพระมารับบิณฑบาตมาก และสะดวกในการตักบาตรทางเรือ เมื่อเตรียมอาหารพร้อมแล้วก็ยกลงเรือ พ่อพายท้าย แม่พายหัว ตอนกลางลำเรือให้ลูกๆ นั่ง และตักอาหาร พายเรือไปจับเท้าพวง บางบ้านอาจจะใช้เรือเครื่อง ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว จับกันตั้งแต่ต้นพวงจนถึงปลายพวงดูสะพรั่งตา มีเรือนานาชนิดลอยอยู่ในน้ำนับร้อยลำเป็นแพ สีสันการแต่งกายชายหญิงดูหลากหลายงดงามยิ่งนัก รอบๆ พวงมีเรือพ่อค้าแม่ค้าขายขนม ข้าวเม่าทอด กล้วยทอด ตั้งเตาตั้งกระทะลอยเรือขายกันตั้งแต่เช้ามืด ส่วนทางวัดต่างๆ ที่รับนิมนต์มาร่วมตักบาตรพระร้อยก็รับมากันตั้งแต่เช้า ก่อนหกโมงเช้า เมื่อมาถึงทางคณะกรรมการจัดการแจกหมายเลข ตามลำดับก่อนหลังตามหมายเลยหลังจากรับหมายเลยแล้วทางวัดเจ้าภาพจะจัดถวายภัตตาหารเช้าแก่พระที่มา ส่วนใหญ่จัดทำเป็นข้าวต้มทรงเครื่อง เป็นหมูหรือไก่ก็ได้ตามสะดวก การตักบาตรพระร้อยเริ่มเวลาประมาณสองโมงเช้า โดยเรือพระพุทธวัดเจ้าภาพก่อน เรือพระพุทธนี้มีพระพุทธตั้งอยู่ตรงกลางลำพร้อมโต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ธูปเทียนโดยทั่วไปนิยมใช้เรือกระแชง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเรืออื่นๆ ต่อจากนั้นจึงเป็นเรือพระสงฆ์เรียงตามลำดับหมายเลขที่ได้รับ การตักบาตรพระร้อยนี้แตกต่างกว่าการทำบุญอื่นๆ ตรงที่ตักบาตรกันในเรือที่ลอยอยู่ในลำน้ำ ทั้งพระและผู้ที่มาทำบุญ จอดเรือจับเข้ากันเป็นพวงเป็นแถวริมตลิ่ง จัดเตรียมอาหารมาใส่บาตร ส่วนพระภิกษุสงฆ์ผู้มารับอาหารบิณฑบาตรก็ลงเรือนั่งเป็นประธาน มีศิษย์วัดไม่น้อยกว่าสองคนอยู่หัวเรือ และท้ายเรือคอยสาวเรือไปตามพวงหรือรับอาหารบิณฑบาตจากผู้มาร่วมงานบุญตั้งแต่ต้นพวงจนสุดพวง หลังจากตักบาตรพระร้อยเสร็จในตอนเช้าแล้ว ตอนกลางวันทางวัดจะจัดให้มีงานปิดทองนมัสการพระประธานในโบสถ์หรือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และมีมหรสพการละเล่นให้ผู้ร่วมงานบุญได้ชม เพื่อความสนุกสนานตามประเพณี เช่น ละคร ลิเก และการแข่งเรือ ส่วนตอนบ่ายมีการลอยเรือหน้าวัด ซึ่งเป็นประเพณีเนื่องมาจากประเพณี “มอญคลั่ง” ซึ่งจะลอยเรือกันเป็นแพเต็มแม่น้ำ หนุ่มสาวจะแต่งตัวสวยงามนั่งเรือลอยลำคุยกัน เล่นเพลงกันอย่างสนุกสนานอยู่กันถึงกลางคืน

แสดงความคิดเห็น